โปรแกรมภาพยนตร์ Infringes นำเสนอผลงานจากศิลปินนานาชาติ ได้แก่ Aura Satz, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, Jiří Žák, Martha Atienza, Riar Rizaldi, Rhea Storr, และ Sky Hopinka โดยมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่จัดฉายครั้งแรกในประเทศไทย ภาพยนตร์ที่ถูกคัดสรรเหล่านี้สำรวจความเกี่ยวพันกันระหว่างตำนาน ความทรงจำ และอำนาจ ที่ต้องเผชิญหน้ากับพลังที่มองไม่เห็นแต่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมและการเมืองในทุกหนแห่ง ท่ามกลางบริบทของอาคารที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่จากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์แบบเรียนการศึกษาในประเทศไทย โปรแกรมภาพยนตร์จึงมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนเกี่ยวกับกระบวนการความรู้ อำนาจ และเรื่องเล่าต่างๆสามารถถูกแทรกแซงหรือแม้กระทั่งละเมิดได้อย่างไร โปรแกรมนี้เชิญชวนผู้ชมให้มีส่วนร่วมในการสำรวจบทบาทของอิทธิพลระหว่างอดีตและปัจจุบัน พร้อมตั้งคำถามว่าการแทรกแซงเชิงสร้างสรรค์เหล่านี้สามารถนำไปสู่อนาคตใหม่ร่วมกันได้หรือไม่
โปรแกรมฉายภาพยนตร์ความยาว 1 ชม. 40 นาที จัดฉายต่อเนื่องบนจอเดียว ตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 14:00 น. ถึง 20:00 น. ณ Bangkok Kunsthalle ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 22 ธันวาคม พ.ศ. 2567
คำแถลงการณ์
อาคารไทยวัฒนาพาณิชครั้งหนึ่งเคยเป็นสำนักพิมพ์ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ตำราเรียนรายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันอาคารได้เปลี่ยนบทบาท สร้างพื้นที่ที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย ผนังที่เต็มไปด้วยฝุ่นและรอยไหม้จากกาลเวลาและการตีตราของประวัติศาสตร์ กลับกลายเป็นฉากหลังสำหรับความเป็นไปได้ในการสำรวจและตั้งคำถาม ในพื้นที่แห่งนี้ Infringes ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่อิทธิพลในอดีตของอาคาร แต่กลับต้องการค้นหาซึ่งความหมายของการเข้าไปในพื้นที่ที่เคยถือครองอำนาจสถาบัน จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อศิลปะและภาพยนตร์เข้ามาทำงานในพื้นที่เช่นนี้? ประวัติศาสตร์อาคารจะถูกกำหนดให้มีหน้าตาอย่างไร? หรือแม้กระทั่งเกิดแรงต้านทานต่อเรื่องเล่าที่ปรากฏในภาพยนตร์?
การตั้งคำถามเหล่านี้ถูกสำรวจผ่านชุดภาพยนตร์ที่เข้ามาแทรกแซงเรื่องราวที่ถูกสืบถอดและความจริงที่ถูกยอมรับ Infringes ชวนให้เรากลับไปคิดทบทวนใหม่ถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ พื้นที่ ประวัติศาสตร์ และความทรงจำ ผ่านบริบทของอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบค้น ว่าด้วยการตั้งคำถามกับพื้นที่นั้นสามารถเปลี่ยนวัตถุประสงค์และจินตนาการขึ้นมาใหม่เฉกเช่นเดียวกับเรื่องเล่าได้อย่างไร?
ภาพยนตร์ที่ถูกคัดเลือกมาในโปรแกรมนี้สั่นคลอนเส้นแบ่งระหว่างอดีตและปัจจุบัน ตำนานและความทรงจำ เผยให้เห็นถึงเบื้องหน้าของกลไกที่ซับซ้อนจากอดีตที่ถูกควบคุม นำไปสู่การค้ำจุนโครงสร้างของอำนาจเหนือทางวัฒนธรรมกระแสหลักผ่านสถาบันทางสังคมที่ยังมีอิทธิพลในปัจจุบัน (present-day hegemony) ภาพยนตร์นำเสนอการแทรกแซงของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง (speculative interventions) เพื่อทวงคืนสิทธิ์และความอิสระของเรื่องเล่าผ่านการเล่นแร่แปรธาตุของภาพและเสียงในแต่ละเรื่อง ดังที่ Rhea Storr กล่าวถึงกระบวนการ "ประท้วงอย่างรื่นเริง" ภาพยนตร์เหล่านี้สร้างการแทรกแซงผ่านจิตวิญญาณดังกล่าวต่อการครอบงำของเรื่องเล่ากระแสหลัก และนำเอาศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงร่วมกันมาเพื่อหวนกลับคืนซึ่งเสียงและประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับและถูกทำให้ลบเลือน เมื่อการจินตนาการถึงอนาคตร่วมกันสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อนั้นเราจงล่วงล้ำสิ่งที่คุ้นเคยเพื่อเปิดรับความรู้และการต่อต้านใหม่ๆร่วมกัน
— คมน์ธัช ณ พัทลุง, ภัณฑารักษ์โปรแกรม Infringes
Works:
Chulayarnnon Siriphol’s Birth Of Golden Snail
ประเทศไทย, 2561, 20 นาที, ภาพยนตร์ไร้เสียง, สมบัติของศิลปิน
กำเนิดหอยทากทอง เป็นภาพยนตร์ไร้เสียงขนาดสั้นที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ของเขาขนาบน้ำ จังหวัดกระบี่ ประเทศไทย ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์และสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์พาผู้ชมสำรวจเส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งและตำนานพื้นบ้านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแฟนตาซีและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเล่นกับพื้นที่ทางกายภาพของถ้ำธรรมชาติที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ฉายภาพยนตร์และพื้นที่ภายในที่ปรากฏในภาพยนตร์ คล้ายกับโรงภาพยนตร์ในยุคเริ่มแรกที่ใช้ฟิล์มขาวดำและโปรเจคเตอร์เพื่อเป็นการอุปลักษณ์ถึงต้นกำเนิดของภาพยนตร์และต้นกำเนิดของมนุษย์ชาติ; เริ่มจากความมืดของถ้ำในครรภ์มารดาก่อนออกไปสู่แสงสว่างของโลกภายนอก ภาพยนตร์ถูกถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. ที่มีฉากหลังเป็นเขาขนาบน้ำ จังหวัดกระบี่ ภาพยนตร์เรื่องนี้เดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Biennale กระบี่ 2018 แต่มีบางฉากที่ต้องถูกตัดออกไปและห้ามฉายเนื่องจากเนื้อหาบางส่วนอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม ความมั่นคงของชาติ และเกียรติภูมิของประเทศไทย ตาม พรบ.ภาพยนตร์มาตรา 29 และ วิดีทัศน์ พ.ศ. 2551
—-----
Aura Satz’s While Smoke Signals
สหราชอาณาจักร, 2566, 9 นาที, สมบัติของศิลปิน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในปี พ.ศ. 2565 บริเวณรอบนอกของโรงกลั่นน้ำมัน Grangemouth Oil Refinery Complex ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงกลั่นปิโตรเลียมที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร โดยภาพยนตร์เรื่อง While Smoke Signals เป็นบทหนึ่งใน ‘Preemptive Listening’ (89 นาที, 2567) ซึ่งเป็นโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Aura Satz
เสียงไซเรนทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนระดับสากลต่อภัยพิบัติที่สร้างบาดแผลทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ หรือกระบอกเสียงที่รัฐใช้ในการปกครอง (sonic governance) และบริหารจัดการภาวะวิกฤตต่างๆ ปัจจุบันยังคงมีไซเรนจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นหลงเหลืออยู่ ซึ่งถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การประกาศเตือนภัยสภาพภูมิอากาศ การหยุดนิ่งรำลึก รวมถึงการทดสอบความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
เสียงไซเรนในภาพยนตร์นี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยกลุ่มนักดนตรีทดลอง โดยตั้งคำถามว่า: สัญญาณเตือนจำเป็นต้องสร้างความตื่นตระหนกเสมอไปหรือไม่? เราจะสามารถตอบสนองต่อภาวะอ่อนล้าเมื่อต้องเผชิญกับสัญญาณเตือนอย่างต่อเนื่อง (alarm fatigue)อย่างไร ทั้งในชีวิตจริงและในเชิงเปรียบเทียบกับสภาวะสังคมปัจจุบัน? นอกจากนี้เรายังสามารถจินตนาการถึงเสียงที่ไม่ได้เป็นเพียงการแจ้งเตือนในทันทีแต่ยังเป็นสัญญาณที่ถูกตั้งให้เข้ากับห้วงเวลาที่ยาวนานขึ้น สัญญาณที่สื่อถึงอนาคตอันห่างไกล หรือเสียงร้องของโลกที่ต้องเผชิญกับนิเวศภัยภิบัติได้หรือไม่?
ในบทนี้ Satz ทำงานร่วมกับนักดนตรีทดลอง ศิลปินด้านเสียง (sound artist) และนักเขียนอย่าง David Toop โดยนำเสนอเสียงประกอบ (soundtrack) ของเสียงเปลวไฟในระยะใกล้ เสียงการปล่อยก๊าซ และเสียงสะท้อนจากชนชั้นแรงงาน อ้างอิงจากการบันทึกเสียงภาคสนามที่ใช้เวลาเก็บรวบรวมมานานหลายทศวรรษควบคู่กับความร่วมมือแบบด้นสด (improvisational collaborations)
โครงการนี้จัดทำขึ้นโดย Tyneside Cinema for End/Future โดยได้รับการสนับสนุนทุนสาธารณะจาก Arts Council England
—-----
Jiří Žák’s Unfinished Love Letter
สาธารณรัฐเช็ก, 2563, 23 นาที, สมบัติของศิลปิน
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการปะต่อผลงานจากการรวบรวมจดหมายเหตุของผู้กำกับและภาพยนตร์สารคดีในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เข้าด้วยกัน บ่งชี้ถึงเหตุการณ์ของเชโกสโลวาเกียในซีเรียผ่านมุมมองของโฆษณาชวนเชื่อ เป็นการเล่าเรื่องโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบบทประพันธ์ ที่อิงจากจุดเริ่มต้นของบทกวีเชิงอารมณ์ที่ใช้สัญชาตญาณในการสร้างสรรค์ Unfinished Love Letter เป็นผลงานแบบวิดีโอเชิงเรียงความ (video-essayistic) นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างเชโกสโลวาเกียและซีเรีย โดยใช้ฟิล์มต้นฉบับ (archival footage) เพื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานและจุดจบอันขมขื่นของสาธารณรัฐเช็กกับท่าทีเชิงลบต่อผู้ลี้ภัยที่อพยพมายังยุโรป โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2557- 2560 ประหนึ่งเป็นจดหมายรักที่ไม่ได้ถูกเขียนถึงการสิ้นสุดของความสัมพันธ์
—-----
Riar Rizaldi’s Notes from Gog Magog
ประเทศอินโดนิเซีย, 2563, 20 นาที, สมบัติของศิลปิน
การสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องเล่าสยองขวัญ วัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเทคโนโลยีในเกาหลีใต้ และเศรษฐกิจด้านการขนส่งในอินโดนีเซีย ถูกเล่าผ่านสมุดบันทึก/ภาพยนตร์ต้นแบบ และเอกสารประกอบของภาพยนตร์ขนาดยาวแนวเทคโนสยองขวัญ (techno-horror) ที่ไม่ได้ถูกสร้าง นำเสนอฉากระหว่างท่าเรือในกรุงจาการ์ตาและพนักงานผู้ช่วยออฟฟิศนิรนามแห่งหนึ่งในกรุงโซล
—-----
Rhea Storr’s A Protest, A Celebration, A Mixed Message
สหราชอาณาจักร, 2561, 12 นาที, สมบัติของศิลปินและ LUX London
การเฉลิมฉลองกลายเป็นการประท้วงที่ Leeds West Indian Carnival การสำรวจรูปแบบสิทธิอำนาจในผลงาน ‘A Protest, A Celebration, A Mixed Message’ ตั้งคำถามว่าใครคือผู้แสดงและใครคือผู้ชม ผ่านคณะละคร Mama Dread ซึ่งมีธีมงานเกี่ยวกับการอพยพของชาวแคริบเบียนมายังสหราชอาณาจักรที่ชวนให้เราพิจารณาถึงความเป็นที่ประจักษ์ของร่างกายคนผิวดำโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ภาพยนตร์ต้องการพิจารณาถึงความง่ายดายต่อการนำเสนอตัวตนทางวัฒนธรรมในฐานะคนหลายเชื้อชาติในสหราชอาณาจักร ที่ซึ่งตัวตนคนของผิวดำถูกมองเห็นและนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการเป็นเจ้าของหรือการฉกฉวยวัฒนธรรม (appropriation) คนผิวดำมาใช้
—-----
Martha Atienza’s Anito
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, 2558, 9 นาที, สมบัติของศิลปิน
เทศกาลการนับถือผี (animistic festival) ที่ถูกคริสต์ศาสนิกชนทำให้เป็นแบบคาทอลิก (Christianized) ได้ผนวกเข้ากับวัฒนธรรมพื้นบ้าน และค่อยๆกลายเป็นความบ้าคลั่งในยุคสมัยใหม่ เทศกาล Ati-atihan แปลว่า "การเป็นเหมือน Aetas" หรือ "เชื่อว่าเป็น Ati" ชนเผ่า Aeta เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ ก่อนการมาถึงของชนชาติออสโตรนีเซียน (Austronesian) เมื่อประมาณ 30,000 ปีก่อน ด้วยอิทธิพลจากหลากหลายช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ฟิลิปปินส์อยู่ในจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ในการโอบรับระหว่างความเชื่อดั้งเดิมจากบรรพบุรุษร่วมกับศาสนาคาทอลิก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและการค้นหาตัวตนผ่านความสร้างสรรค์ เหตุการณ์สำคัญต่างๆของชุมชนถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ อาทิ การพัดผ่านของพายุไต้ฝุ่นโยลันดา (ไห่เยี่ยน) การมาเยือนของพระสันตะปาปา แรงงานข้ามชาติ และ แมนนี ปาเกียว วันหนึ่งผู้คนจะละทิ้งตัวตนปัจจุบันและกลับคืนสู่สิ่งที่พวกเขาเป็นเสมอมา อิทธิพลจากบรรพบุรุษได้ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งราวกับเทพเจ้าที่บ้าคลั่ง สอดคล้องกับความหมายของคำว่า Anito ซึ่งหมายถึงจิตวิญญาณของบรรพบุรุษและธรรมชาติ รวมถึงเทพเจ้าในความเชื่อของชนชาติพันธุ์ก่อนยุคอาณานิคม
—-----
Sky Hopinka’s I’ll Remember You As You Were, Not As What You’ll Become
สหรัฐอเมริกา, 2559, 13 นาที, สมบัติของศิลปิน
บทกลอนอาลัยแด่ Diane Burns ว่าด้วยรูปร่างของความตายและการดำรงอยู่ และรูปแบบของจิตวิญญาณที่เหนือกว่านั้นหยั่งรากลงสู่ภูมิทัศน์แห่งชีวิตและมรณกรรม เป็นสถานที่สำหรับตำนานบทใหม่ที่บรรเลงจังหวะเพลงที่ไม่ถูกผกผัน ผสานร่วมกับบทเพลงในสภาวะไร้พรมแดนที่สลายเส้นแบ่งเดิม พิสูจน์เส้นทางเก่าของการเกิดใหม่ ที่ซึ่งการยอมจำนนได้มอบความหวังและโอกาสครั้งใหม่ ในรูปแบบใหม่ที่หมุนเวียนกลับสู่ความผันแปรของชีวิตพวกเขา “ฉันมาจากโอกลาโฮมา ไม่มีใครให้ฉันเรียกว่าที่รัก ถ้าคุณมาเป็นที่รักของฉัน ฉันก็จะเป็นของคุณ way hi ya way ya hi ya way ya hi yo” - Diane Burns (พ.ศ. 2500 - 2549)
Credits:
Curator: คมน์ธัช ณ พัทลุง Komtouch Napattaloong
Artists: Aura Satz, Chulayarnnon Siripol, Jiří Žák, Martha Atienza, Riar Rizaldi, Rhea Storr, and Sky Hopinka
With support from LUX London
Exhibition Installers: Supernormal Studio
Thai Subtitles: รัชตะ ทองรวย Rachata Thongruay
Program Text Translator: ปริฉัตร ธนาภิวัฒนกูร Parichat Tanapiwattanakul
Founder: Marisa Chearavanont
Director: Stefano Rabolli Pansera
Exhibition Coordinators: Mark Chearavanont and Gemmica Sinthawalai
Booklet Design: Pu Kaewprasert and Pla Kaewprasert
Film details and images are provided by the artists and their representatives.